หนังสือและวารสารสำนักฯ

วัดร้างใต้ดินที่ไม่มีคนรู้จัก

ผู้เขียนเคยสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีช่วงที่เป็น “วิทยาลัยครูเทพสตรี” ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๑๓ วิชาที่ผู้เขียนสอนคือ ศิลปศึกษากับหัตถศึกษา ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ผู้เขียนสอนวิชาศิลปะวิจักษณ์แก่นักเรียนป.กศ.สูง ผู้เขียนได้พานักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ เพื่อศึกษาโบราณวัตถุสถานในจังหวัดลพบุรีด้วย ทำให้ได้แนวคิดให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เมื่อนักเรียนศึกษาค้นคว้าได้ช่วยกันลงขันจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ลพบุรีที่น่ารู้” เพื่อแจกจ่ายแก่ครูอาจารย์ นักเรียนและผู้สนใจ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะออกสำรวจและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะมีเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้าอีกมาก ช่วงนั้นทางวิทยาลัยครูเทพสตรีไม่มีนโยบายให้ครูอาจารย์ศึกษาค้นคว้า ผู้เขียนจึงได้ดำเนินการด้วยตนเองโดยออกสำรวจค้นคว้า หลังจากเลิกสอนในตอนเย็นและวันหยุดราชการโดยถีบจักรยานออกไปสำรวจค้นคว้า แล้วจัดพิมพ์ “ลพบุรีที่น่ารู้” ขึ้นใหม่ โดยจัดการพิมพ์เอง ขายเอง ในราคาเล่มละ ๖ บาท และได้นำออกฝากขายที่พิพิธภัณฑสถานสมเด็จพระนารายณ์ ศาลพระกาฬ ร้านหนังสือในลพบุรีและกรุงเทพมหานคร มีคนสนใจกันมากพอสมควร ต่อมาผู้เขียนเห็นว่ายังมีเรื่องที่น่าออกสำรวจและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอีกมาก จึงขอเงินทุนจากมูลนิธิอาเซียเพื่อออกสำรวจและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและจัดพิมพ์หนังสือ “ลพบุรีที่น่ารู้” ใหม่ ในปีพ.ศ.๒๕๑๒ ได้พิมพ์เองขายเอง โดยจำหน่ายในราคาเล่มละ ๑๒ บาท จากการที่ผู้เขียนได้ออกสำรวจศึกษาค้นคว้าและสอบถามผู้รู้เพิ่มเติมนั้น ทำให้ผู้เขียนได้ข้อมูลอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง “วัดร้างในตัวเมืองลพบุรีที่ไม่มีคนรู้จัก” ผู้เขียนจึงได้เพิ่มเรื่องนี้ไว้ใน “ลพบุรีที่น่ารู้” ด้วย และได้เขียนบทความเรื่อง “วัดร้างใต้ดินที่ไม่มีคนรู้จัก” ส่งไปลงพิมพ์ใน “ชาวกรุง” ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๑๔ ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๕ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ได้จัดพิมพ์ “ลพบุรีที่น่ารู้” ใหม่ และได้พิมพ์เรื่อง “วัดร้างใต้ดินที่ไม่มีคนรู้จัก” ในหนังสือ “มรดกศิลปกรรมสยาม” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ด้วย เมื่อผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีให้ผู้เขียนช่วยเขียนเรื่องมาลงพิมพ์ใน หนังสือที่ระลึกสำนักศิลปะและวัฒนธรรมครบรอบ ๓๐ ปี ผู้เขียนจึงนำเรื่อง “วัดร้างใต้ดินที่ไม่มีคนรู้จัก” นี้ขึ้นมาเขียนขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ผู้เขียนได้เขียน “ประวัติศาสตร์เมืองลพบุรี” ให้สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์จัดพิมพ์จำหน่ายในราคาเล่มละ ๓๐๐ บาท ได้นำเรื่อง “วัดร้างใต้ดินที่ไม่มีคนรู้จัก” ลงพิมพ์ด้วยอีกครั้ง ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ผู้เขียนได้เขียนอีบุ๊กเรื่อง “ทอดน่องท่องดูของดีที่ลพบุรี” โดยท่องดูของดีจากคำขวัญจังหวัดลพบุรีที่ว่า “วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์” ออกเผยแพร่โดย meb และ Chulabook ต่อมาสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏ เทพสตรี ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มออกเผยแพร่ และทำเป็นอีบุ๊กด้วย ในเล่มนี้ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างโบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่พบเมื่อครั้งสร้างถนนจากตัวเมืองไปสระแก้วด้วย ล่าสุดในปี พ.ศ.2566 นี้ ผู้เขียนได้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมให้เป็นปัจจุบันมากขึ้นอีก จึงได้เขียนเรื่อง “วัดร้างใต้ดินที่ไม่มีคนรู้จัก” ขึ้นใหม่อีกครั้ง

เสาร์ 04 มกรามก 2568 301

ชื่อผู้แต่ง : หวน พินธุพันธ์

ปีที่พิมพ์ : 2567

ประเภท : วารสาร

จัดพิมพ์โดย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

คำสำคัญ : วัดร้างใต้ดินที่ไม่มีคนรู้จัก


เบราว์เซอร์นี้ไม่สนับสนุน PDF กรุณาดาวน์โหลดไฟล์ PDF เพื่อดู
Download PDF

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
หนังสือและวารสารสำนักฯ อื่นๆ