งานวิจัยและบทความ

การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังในศาลาพระศรีอาริยเมตไตรย วัดตองปุ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังในศาลาพระศรีอาริยเมตไตรย วัดตองปุ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดตองปุ ในประเด็นเรื่องราว ความเชื่อ การจัดวางภาพ ตำแหน่งของภาพ และปรากฎการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรม ผลการวิจัยพบว่า ศาลาพระศรีอาริยเมตไตรย วัดตองปุ สร้างในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จิตรกรใช้เทคนิคการวาดภาพแบบไทยประเพณี ผสมผสานกับเทคนิคการวาดภาพแบบตะวันตก เป็นเรื่องราวพุทธประวัติที่มีสอดแทรกการเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านผสมผสานกับสถาปัตยกรรมความเจริญของเมืองกรุงเทพในขณะนั้น 1. ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราว ความเชื่อ ของภาพจิตรกรรมยังเป็นความเชื่อแบบดั้งเดิมของพุทธศาสนา เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ จัดเรียงลำดับตามเรื่องพุทธประวัติตามตำราหรือเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมา จิตรกรมีจุดมุ่งหมายในการเขียนภาพเพื่อสืบทอดกพระพุทธศาสนาด้วย การแสดงออกทางศิลปะ ต้องการให้ภาพที่เขียนเป็นเครื่องโน้มน้าวจิตใจของชาวบ้านให้เกิด ความเลื่อมใส ศรัทธาในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น 2. การจัดวางภาพและตำแหน่งของภาพ ผนังด้านข้างขวามือพระประธานเขียนภาพ พุทธประวัติเริ่มจากมุมขวาเจ้าชายสิทธัตถะประทับที่ปราสาทสามฤดู เสด็จประพาสนอกเมือง เห็นเทวทูตทั้ง 4 ทรงหนีออกผนวช ตอน มหาภิเนกษกรมณ์ ศึกษาธรรมกับอาฬารดาบสกับอุทกดาบส นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ด้านหลังพระประธานเขียนภาพทรงอธิษฐานลอยถาด เมืองบาดาลของกาฬนาคราช ตอนบิณฑบาต ด้านซ้ายมือพระประธานเขียนภาพทรงโปรดชฎิลสามพี่น้อง ทรงเสด็จโปรดพระบิดาในกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเสด็จเมืองกุสินาราและทรงปรินิพาน ภาพเมืองหลวง ในกรุงเทพฯ ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนภาพพระภิกษุปลงอสุภ 3. ปรากฏการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรมฝาผนัง ได้แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ร่วมสมัยของวิถีชีวิตของชาวบ้านผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4-5 เช่นภาพการแต่งกายของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ภาพธงชาติไทย ภาพประตูพระบรมมหาราชวัง ภาพอาคารพาณิชย์ ภาพการแต่งกายแบบชาวบ้าน ภาพเสือ ภาพศิลปะการลงรักปิดทอง ภาพบ้านเรือนในชนบท เป็นต้น ข้อเสนอแนะ ควรทำการศึกษาภาพจิตรกรรมในวัดแหล่งอื่นที่มีอายุหรือการสร้างในสมัยเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบ รูปแบบ แนวคิด วิธีการนำเสนอ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือความแตกต่าง หรือหากต้องการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์ ควรทำการศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนัง ภายในจังหวัดลพบุรีที่มีคุณค่าและกำลังจะสูญหายไป

พฤหัส 05 ตุลาคม 2566 309

ชื่อผู้แต่ง : ผศ.ดร.จุติรัช อนุกูล

ปีที่แต่ง : 2566

ประเภท : บทความ

จัดพิมพ์โดย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง


เบราว์เซอร์นี้ไม่สนับสนุน PDF กรุณาดาวน์โหลดไฟล์ PDF เพื่อดู
Download PDF

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
งานวิจัยและบทความ อื่นๆ