งานวิจัยและบทความ

การศึกษาแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรี

การศึกษาวิจัย เรื่อง การศึกษาแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรีครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพของแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรี จำนวน 20 แหล่ง โดยศึกษาในประเด็น สถานที่ตั้ง การดำเนินงาน เนื้อหาการจัดแสดง กาให้รบริการ ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น สภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และปัญหาอุปสรรค เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเยาวชนและประชาชนและเพื่อนำข้อมูลไปจัดทำทะเบียนแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดลพบุรี วิธีการศึกษาใช้รูปแบบวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 30 คน ที่เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร คณะกรรมการ ผู้ดำเนินงานและผู้เกี่ยวข้องกับแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรีจำนวน 20 แห่ง และทำการวิเคราะห์ข้อมูล นําเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) ผลการศึกษาวิจัยพบว่า แหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลพบุรีทั้ง 20 แห่ง ตั้งอยู่ในสถานที่หลากหลายแตกต่างกัน แบ่งตามสถานที่ตั้งและการดำเนินงานได้เป็น 6 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด ก่อตั้งและดำเนินงานโดยวัด จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดโคกหม้อ พิพิธภัณฑ์พระครูสนิทวินัยการวัดท่าโขลง พิพิธภัณฑ์วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา พิพิธภัณฑ์วัดเขาวงพระจันทร์ 2. กลุ่มที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด ก่อตั้งและดำเนินงานโดยวัดและชุมชน จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนโคกกระเทียม พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านวัดยาง ณ รังสี พิพิธภัณฑ์วัดไลย์ พิพิธภัณฑ์ชุมชนหัวสำโรง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนวัดบ้านทราย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนบ้านหลุมข้าว พิพิธภัณฑ์บ้านพรหมทินใต้ ปิดให้บริการ 2 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดถ้ำตะโกพุทธโสภาและ พิพิธภัณฑ์ชุมชนหัวสำโรง เนื่องจากขาดบุคลากร เฝ้าพิพิธภัณฑ์ 3. กลุ่มที่ตั้งอยู่ในสถานที่ราชการและดำเนินงานโดยหน่วยราชการ 2 แห่งได้แก่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก 4. กลุ่มที่ตั้งอยู่ในเขตทหารและ ข ดำเนินงานโดยทหารจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่ พิพิธภัณฑ์การบินทหารบก พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลอานันทมหิดล 5. พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในชุมชนและดำเนินงานโดยชุมชน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งโคกสลุง 6. พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาภายใต้การดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา สภาพภายนอกโดยรวมของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 20 แห่ง ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้ง โดยรวมอยู่ใสภาพดี ต้องการการปรับปรุงภูมิทัศน์ ชื่อพิพิธภัณฑ์และป้ายบอกทาง ยกเว้นอาคารหลังแรกของพิพิธภัณฑ์เรือวัดยาง ณ รังสี อยู่ในสภาพทรุดโทรม ด้านการดำเนินงาน พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งในวัด ดำเนินงานกันเอง ไม่มีรูปแบบคณะกรรมการ ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งในสถานที่ราชการ ดำเนินงานโดย หน่วยราชการต้องการงบประมาณในการดำเนินงานเช่นกัน ด้านการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งในบริเวณวัด จัดแสดงกันเองตามวัตถุที่มี ยังไม่เป็นหมวดหมู่ ยกเว้น พิพิธภัณฑ์บ้านพรหมทินใต้ที่มีการจัดแสดงที่เป็นหมวดหมู่ ทันสมัย ได้รับการสนับสนุนในการสร้างอาคารและการจัดแสดงจาก มูลนิธิกรุงเทพประกันภัย จำกัด พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในสถานที่ราชการ มีการจัดแสดงที่เป็นหมวดหมู่ ด้านการบริการ พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดทั้ง 12 แห่ง จะให้บริการเฉพาะการนัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น เพราะโดยปกติ พิพิธภัณฑ์จะปิด เพราะไม่มีบุคลากรประจำพิพิธภัณฑ์ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในเขตทหาร เยี่ยมชมได้ในวัน เวลาราชการและต้องนัดหมายล่วงหน้าเช่นกัน มีค่าใช้จ่ายในการเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งโคกสลุง เยี่ยมชมได้ทุกวัน ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าต้องการให้มีการจัดกิจกรรม ต้องแจ้งล่วงหน้าและอาจมีค่าใช้จ่ายบ้าง ด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ นอกจากองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์ทั้ง 20 แห่งแล้ว ยังมีสิ่งแวดล้อมพิพิธภัณฑ์ต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ป่าจำปีสิรินธร ชุมชนตำบลโคกสลุง เป็นต้น ด้านปัญหา อุปสรรค พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งในบริเวณวัด ดำเนินงานโดยวัดและชุมชน มีปัญหาในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ เพราะไม่มีบุคลากรประจำพิพิธภัณฑ์ ขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ต้องการนักวิชาการในการพัฒนาการจัดแสดงและบุคลากรในการนำชม มีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นน้อยมาก ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการกับองค์กรต่างๆในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยผ่านการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์

พฤหัส 22 สิงหาคม 2567 103

ชื่อผู้แต่ง : ผศ.วิไลวรรณ ฉ่ำพิรุณ

ปีที่แต่ง : 2567

ประเภท : บทความ

จัดพิมพ์โดย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

คำสำคัญ : แหล่งเรียนรู้ชุมชน พิพิธภัณฑ์


เบราว์เซอร์นี้ไม่สนับสนุน PDF กรุณาดาวน์โหลดไฟล์ PDF เพื่อดู
Download PDF

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
งานวิจัยและบทความ อื่นๆ