งานวิจัยและบทความ

การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดพระปรางค์มุนี อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังในอุโสถวัดพระปรางค์มุณี อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระปรางค์มุณี ในประเด็นเรื่องราว ความเชื่อ การจัดวางภาพ ตำแหน่งของภาพ และปรากฎการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรม ผลการวิจัยพบว่า อุโบสถวัดพระปรางค์มุณี เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด แต่จากคำบอกเล่าของอดีตเจ้าอาวาสว่าผลงานจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้วาดโดยนายเพ็งเมื่อ ปี พ.ศ.2462 อาจสันนิษฐานได้ว่าอุโบสถหลังนี้อาจสร้างแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ.2460-2461 หรืออาจสร้างก่อนหน้านั้น จิตรกรรมในอุโบสถเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ทศชาติชาดกและนรกภูมิ ที่มีรูปแบบไม่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมนิยมที่เคยสืบทอดกันมา เขียนโดยช่างเพ็ง จิตรกรพื้นบ้านที่มีผลงานวาดไว้อย่างน้อยสองแห่งในจังหวัดลพบุรี 1. ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราว ความเชื่อ ของภาพจิตรกรรม ภาพจิตรกรรมที่พบภายในอุโบสถวัดพระปรางค์มุณี ทั้งหมดยังเป็นความเชื่อแบบดั้งเดิมของพุทธศาสนา เป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอนเสด็จออกผนวช ตอนผจญมาร ตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ ตอนปราบอสุรินทราหู ภาพทศชาติชาดกสื่อให้เห็นถึงการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้าในด้านทาน ศีล ภาวนาให้เต็มครบทุกบารมี และภาพนรกภูมิสื่อให้เห็นผลของการทำบาปต่างๆเพื่อให้คนละจากการกระทำ ความชั่วเกรงกลัวต่อบาป 2. การจัดวางภาพและตำแหน่งของภาพ ภาพจิตรกรรมในอุโบสถวัดพระปรางค์มุนี มีการจัดวางภาพดังนี้ ผนังด้านหลังพระพุทธรูปขวามือประธานเขียนมารผจญ ด้านล่างเขียนภาพปางป่าลิไลย์ ซ้ายมือพระประธานด้านบนเขียนภาพเจดีย์จุฬามณี ด้านล่างเขียนภาพปางไสยาสน์ปราบอสุรินทราหู ภาพตรงข้ามพระประธานซ้ายมือเขียนภาพทรงออกผนวช ขวามือเขียนภาพเสด็จกลับจากดาวดึงส์ ภาพด้านข้างเขียนภาพทศชาติชาดกฝั่งละ 5 ตอน ด้านล่างเขียนภาพนรกภูมิ 3. ปรากฏการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมในอุโบสถวัดพระปรางค์มุณี ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านผสมผสานกับความเจริญในขณะนั้น ส่วนหลักของภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดพระปรางค์มุณี นอกจากจะเขียนภาพเรื่องราวของพุทธประวัติ ทศชาติชาดกและนรกภูมิแล้ว จิตรกรยังได้สอดแทรกเรื่องราวร่วมสมัยไว้เป็นส่วนรองหรือส่วนย่อยอีกด้วยได้แก่ งานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก การแต่งกายของทหารสมัยรัชกาลที่ 5-6 การจัดขบวนทหาร ทรงผมและการแต่งกายของชาวบ้าน การศึกษา วัฒนธรรมการกิน พาหนะการเดินทาง การล่าสัตว์ การจองจำทำโทษ และขั้นตอนการทำงานของศิลปิน

พุธ 04 ตุลาคม 2566 200

ชื่อผู้แต่ง : ผศ.ดร.จุติรัช อนุกูล

ปีที่แต่ง : 2566

ประเภท : บทความ

จัดพิมพ์โดย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง


เบราว์เซอร์นี้ไม่สนับสนุน PDF กรุณาดาวน์โหลดไฟล์ PDF เพื่อดู
Download PDF

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
งานวิจัยและบทความ อื่นๆ