งานวิจัยและบทความ

การอนุรักษ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ : กรณีศึกษาหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

การอนุรักษ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาขั้นตอนการสร้างหนังใหญ่ วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรีในอดีตและปัจจุบัน และ2) สืบสานการอนุรักษ์และการสานต่อของชุมชน ภายหลังการศึกษาเสร็จสิ้นแล้วพบว่า ๑. หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรีในอดีตและปัจจุบัน มีดังนี้ ๑.๑ การแสดงหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ มีองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งมีรายละเอียด ได้แก่ 1.๑.๑ ตัวหนัง ทำจากแผ่นหนังวัวแห้งขนาดใหญ่แกะสลักฉลุลวดลายสวยงามเป็นตัวละครต่างๆ ตรึงแผ่นหนังด้วยก้านไม้ เคลื่อนไหวโดยการเชิดผ่านแสงทาบเงาลงบนจอ ๑.๑.2 จอหนังเป็นผ้าขาวผืนใหญ่ สำหรับให้ตัวหนังทาบขึงจอในแนวสูงและกว้างรอบจอใช้ผ้าสีแดงทาบริมทั้งสี่ด้านเพื่อคนดูจะได้มองเห็น 1.๑.3 ดนตรีประกอบการแสดงใช้วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่บรรเลงเพลงประกอบการเคลื่อนไหวและแสดงอารมณ์ต่างๆ ของการแสดง 1.1.4 ผู้เชิด เป็นชาย ผู้เชิดหนังต้องเป็นผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ ความชำนาญในการเต้นโขนมีหน้าที่บังคับตัวหนังให้เคลื่อนไหวไปอย่างมีชีวิตชีวา เต้น รำไปตามบทบาทและทำนองเพลงคนพากย์ 1.๑.5 ผู้พากย์และเจรจา ผู้พากย์จะต้องเข้าใจเรื่องที่จะแสดงเป็นอย่างดีและจะต้องเข้าใจดนตรี เข้าใจเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงด้วย การพากย์หนังใหญ่มีลักษณะเดียวกันกับการพากย์โขน ฉะนั้นต้องเตรียมคนพากย์ซึ่งต้องเป็นผู้มีเสียงดี มีความรู้ในเรื่องการอ่านบทกลอน และการพากย์โขน 1.๑.6 ไฟส่องตัวหนัง เพื่อให้เห็นลวดลายที่ตัวหนังชัดเจน 1.๑.7 วรรณกรรมที่ใช้แสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ 1.๒. ขั้นตอนและวิธีการทำหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ วิธีการทำหนังใหญ่ของวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี มีขั้นตอนและวิธีการดังนี้ 1.๒.1 การเตรียมหนัง ใช้หนังวัวมาทำแต่จะเลือกซื้อจากโรงงาน ทางโรงงาน จะรีดหนังได้ตามขนาดความหนา บาง ตามที่ต้องการปัจจุบันทางวัดซื้อหนังวัวมาจากจังหวัดอ่างทอง 1.๒.๒ การฟอกหนัง ปัจจุบันวัดสว่างอารมณ์ เลือกใช้วิธีการซื้อหนังมาจากโรงงานที่ฟอกแล้วนำมาขึงให้หนังตึงแล้วมาขูดขนออกโดยใช้ไม้ที่เตรียมไว้ 1.๒.3 การเขียนลาย ใช้วิธีการลอกลายหรือร่างลายโดยใช้กระดาษไขวางทับแบบแล้วร่างลวดลายจากต้นแบบหรือการวาดลวดลายแล้วนำไปถ่ายเป็นพิมพ์เขียว หรือถ่ายเอกสารขนาด A3 หรือ A4 แล้วนำมาขยายตามสัดส่วนของตัวหนัง จากนั้นปะลงบนตัวหนังแล้วจึงทำการฉลุลาย 1.๒.4 การปรุลาย จะใช้ตัวตุ๊ดตู่หรือตาไก่เป็นตัวตอกตามลวดลายเช่นเดียวกับสมัยโบราณเครื่องมือที่ใช้จะมีทั้งเครื่องมือตอกและ เครื่องมือตัด มีดเป็นมีดปลายแหลม ใช้ตัดหรือ เฉือนและกรรไกรที่ต้องการตัดออกให้เป็นช่อง 1.๒.5 การลงสี สีจะใช้สีที่มีในสมัยโบราณ คือ ยังคงใช้สีดำ ขาว น้ำตาลแดง เขียว ปัจจุบันมีสีที่ใช้ทาตัวหนังที่ทำให้การทำงานสะดวกขึ้นคือ สีแอลกอฮอล์ย้อมหนัง ซึ่งมีหลายสีให้เลือก คุณสมบัติของสีแอลกอฮอล์ทำให้สีติดซึมลงไปในเนื้อหนัง การลงสีจะมีการระบายสองทางคือทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จุดที่เป็นสีขาวจะไม่ลงสีใช้เป็นผิวเดิมของหนัง 1.๒.6 การเคลือบหนังจะใช้น้ำยาเคลือบตัวหนังหลังจากลงสีเรียบร้อยแล้วสามารถกันความชื้นและรักษาสภาพของหนังและสีให้คงทน 1.๒.7 การผูกไม้ การผูกไม้หรือเรียกว่าไม้ตับหนังจะใช้ไม้ไผ่ที่แก่จัดมาเหลาเป็นด้ามไว้จับเวลาเชิดหนัง ไม้ตับหนังทำมาจากไผ่ จึงต้องนำไม้ไปรมควันไฟเพื่อกันพวกแมลงหรือมอดที่จะมากินไม้ไผ่ 2. การสืบสาน การอนุรักษ์ และการสานต่อของชุมชน หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์จังหวัดสิงห์บุรีมีวิธีการ การอนุรักษ์และการเผยแพร่ ดังนี้ ๒.๑ ปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ๒.2 อนุรักษ์หนังใหญ่ โดยดูแลรักษา ซ่อมแซมตัวหนังที่ชำรุด สร้างตัวหนังใหม่แทนตัวที่ชำรุด ๒.3 เชิญชวนและประสานงานกับนักเรียนและบุตรหลานของชุมชนวัดสว่างอารมณ์ มาฝึกเชิดหนังใหญ่และการแกะสลักตัวหนัง ๒.4 จัดพิธีครอบครู ไหว้ครูหนังใหญ่เป็นประจำทุกปี ในปัจจุบันกำหนดการจัดงาน ในเดือน ๙ หรือประมาณเดือนสิงหาคม ในการนี้จะมีการแสดงหนังใหญ่ด้วย ๒.5 จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นหนังใหญ่เพื่อเป็นหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในจังหวัดสิงห์บุรี เช่น โรงเรียนเทศบาล ๓ พรหมรวมมิตร และโรงเรียนวัดพรหมสาคร ๒.6 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ชุมชน องค์กร หน่วยงานต่างๆมาชมการแสดงหนังใหญ่ และพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ โดยทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ ป้ายประชาสัมพันธ์ ทำสื่อออนไลน์ เป็นต้น ๒.7 นำเศษหนังที่เหลือจากการแกะสลักตัวหนังมาทำเป็นของที่ระลึกเพื่อจัดจำหน่าย เช่น พวงกุญแจ ทำตัวหนังขนาดย่อส่วนและนำมาใส่กรอบเป็นของที่ระลึก

อาทิตย์ 23 มิถุนายน 2567 147

ชื่อผู้แต่ง : วนิดา เพิ่มศิริ , ธนิดา ภู่แดง, ศรีสุภา นาคธน, สุชาติ อ่อนสันทัด, ณัฐธวัลรัตน์ ดอกไม้งาม

ปีที่แต่ง : 2567

ประเภท : บทความ

จัดพิมพ์โดย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

คำสำคัญ : หนังใหญ่ , การอนุรักษ์


เบราว์เซอร์นี้ไม่สนับสนุน PDF กรุณาดาวน์โหลดไฟล์ PDF เพื่อดู
Download PDF

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
งานวิจัยและบทความ อื่นๆ